สูงสุดสู่สามัญ เจาะสาเหตุฟุตบอลเวียดนามไปไม่ไกลจากระดับอาเซียน
นับเป็นความล้มเหลวสำหรับ ทีมชาติเวียดนาม กับการตกรอบรองชนะเลิศด้วยการแพ้ทีมชาติไทยด้วยสกอร์รวม 0-2 ในศึกฟุตบอลเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020 จนไม่สามารถก้าวขึ้นไปป้องกันแชมป์ได้ ทั้งที่ด้วยอันดับโลกแล้วเวียดนามมีอันดับโลกเป็นที่ 1 ในย่านอาเซียน ณ ปัจจุบัน
ไม่เพียงเท่านั้นผลงานในศึกฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบ 12 ทีมสุดท้าย เวียดนามยังมีผลงานอันย่ำแย่ด้วยการแพ้รวดทั้ง 6 นัด ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พัค ฮัง ซอ กุนซือชาวเกาหลีใต้ สามารถสร้างทีมชาติเวียดนามจนยากที่จะหาคู่ต่อกรในย่านอาเซียนได้ แม้แต่ทีมไทยเองก็ยังเอาชนะไม่ได้
เกิดอะไรขึ้นกับ ทีมชาติเวียดนาม อะไรคือปัญหาที่ทำให้ทีมชาติเวียดนามก้าวสู่จุดสูงสุด ก่อนกลับคืนสู่สามัญในระยะเวลาแค่ 3-4 ปี Main Stand ขอพาทุกท่านมาร่วมวิเคราะห์และหาคำตอบไปพร้อมกัน
วัฏจักรฟุตบอลเวียดนาม
ฟุตบอลคือวัฏจักรคล้ายกับสินค้า หรือในเชิง Business จะเรียกว่า Product Life Cycle ทีมฟุตบอลทีมหนึ่งก็อาจจะเทียบได้กับสินค้าชิ้นหนึ่งเช่นกัน
เริ่มจาก Introduction คือการก่อกำเนิดสินค้า ต่อด้วย Growth หรือการเติบโต ซึ่งหากนำหลักการนี้มาเปรียบเทียบแล้วทีมชาติเวียดนามก็มีช่วงการเติบโตที่รวดเร็ว
แต่เมื่อเติบโตแล้วสินค้าทุกชนิดก็จะเข้าสู่ช่วงของการเติบโตเต็มที่และมีความมั่นคง คือ Maturity ช่วงเวลานี้การเติบโตจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ขณะเดียวกันคู่แข่งก็จะเริ่มมากขึ้น
กระทั่งเข้าสู่วงจรสุดท้ายคือ Decline หรือช่วงถดถอย ช่วงถดถอยนี้สินค้าชนิดนั้นจะไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป ดังนั้นจึงมีทางเลือกคือ การปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพื่อกลับสู่วัฏจักร Growth หรือจะเลิกผลิตไปเลย ... แล้วหันไปผลิตสินค้าชนิดใหม่
หากเทียบ Product Life Cycle กับฟุตบอลเวียดนามก็จะเทียบได้กับสองยุคที่มีความคล้ายคลึงกัน
หากย้อนไปถึงความสำเร็จของทีมชาติเวียดนาม อาจจะต้องมองกลับไปถึงยุคของการเป็นแชมป์ฟุตบอลเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2008 ซึ่งก่อนหน้านั้นเวียดนามเองก็เคยเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลเอเชียนคัพ 2007 มาก่อน นั่นถือเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของฟุตบอลเวียดนาม นักเตะในยุคนั้นเติบโตมาด้วยความรู้ใจและเป็นระบบ
ยุคนั้นเวียดนามมีตัวจบสกอร์ที่เฉียบคมอย่าง เล กง วินห์ ผู้ทำให้ทีมชาติไทยต้องเจอกับความผิดหวังในอาเซียนคัพ 2008 รวมไปถึง เลอ ตัน ไต อีกหนึ่งผู้เล่นที่คนไทยอาจจะพอคุ้นหูอยู่บ้าง และยังมี ดอง ฮอง ซอน นายทวารตัวหลักที่เซฟลูกยิงของทีมชาติไทย จนมีส่วนให้ทีมคว้าแชมป์
แต่ความสำเร็จในเจเนอเรชั่นนี้ของเวียดนามกลับยืนระยะได้เพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น เพราะในศึกเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2010 เวียดนามที่ใช้ผู้เล่นชุดเดิมเป็นหลักกลับลดความแข็งแกร่งลงไปมาก พวกเขาแพ้ในรอบแรกต่อฟิลิปปินส์ 0-2 ซึ่งถือเป็นน้องใหม่ในวงการฟุตบอลอาเซียนขณะนั้น ก่อนจะมาแพ้มาเลเซียในรอบรองชนะเลิศ ชวดการเข้าไปป้องกันแชมป์
ฟุตบอลเวียดนามเข้าสู่ยุคขาลงอีกครั้ง ทั้งตกรอบแรกซีเกมส์ 2011, 2013 ตกรอบแรกเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2012 ไปได้ถึงแค่รอบรองชนะเลิศในเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2014, 2016 นี่คือวัฏจักรที่เกิดขึ้น จนกระทั่งมาถึงยุคของ พัค ฮัง ซอ กุนซือชาวเกาหลีใต้ ที่เปลี่ยนเวียดนามให้เป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนอีกครั้ง
การคว้ารองแชมป์ยู-23 ชิงแชมป์เอเชีย ต่อด้วยผลงานคว้าแชมป์เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2018, เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายศึกเอเชียนคัพ 2019, คว้าเหรียญทองซีเกมส์ 2019 และเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลก 2022 โซนเอเชีย ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะ พัค ฮัง ซอ คือผู้สร้างและทำให้เกิดมิติใหม่ ๆ ในวงการฟุตบอลเวียดนามอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
จนกระทั่งจุดเปลี่ยนของฟุตบอลเวียดนามก็มาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พวกเขาเข้าสู่ช่วงขาลงที่เร็วมาก เนื่องจากความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่อง ผสมกับปัจจัยอีกหลาย ๆ อย่างที่จะกล่าวถึงต่อไป
ถ้าจะกล่าวว่านี่คือวัฏจักรที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับฟุตบอลทีมชาติเวียดนามเพียงทีมเดียวก็คงใช่
แทคติกเดิม ๆ ผู้เล่นเดิม ๆ
"เวียดนามของ โค้ชพัค ไม่เปลี่ยนแทคติกมา 3 ปีแล้ว ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับทีมอื่นที่จะวิเคราะห์ทีมของพวกเขา ถ้าเทียบแล้วเวียดนามก็เหมือน เลสเตอร์ ซิตี้ พวกเขาคว้าถ้วยรางวัลจากจังหวะโต้กลับโดยมี เจมี่ วาร์ดี้ เป็นกองหน้า แทคติกนี้หวือหวาในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นคู่แข่งทุกคนก็รู้วิธีรับมือและตั้งรับได้เหนียวแน่น แทคติกนี้จึงใช้ไม่ได้อีกต่อไป เห็นไหมว่าตอนนี้ วาร์ดี้ ดรอปไปพอสมควร ดังนั้นเวียดนามในตอนนี้จึงถูกจับทางได้หมดแล้ว"
ประโยคเริ่มต้นของ "ตรัน เจือง ดึ๊ก" ผู้สื่อข่าวจาก Zing News เว็บไซต์ดังของเวียดนามเปิดเผยกับผู้เขียน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเวียดนามกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ พัค ฮัง ซอ เคยใช้แทคติกเหล่านี้แล้วได้ผลดีกับทีมในอาเซียน แต่เมื่อไปถึงระดับเอเชียแทคติกที่มีก็เริ่มใช้ไม่ได้ผล ญี่ปุ่น, โอมาน, ซาอุดีอาระเบีย, ออสเตรเลีย และ จีน ได้ศึกษารูปแบบการเล่นของเวียดนามมาแล้วทั้งหมด และลำพังความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นเองก็สู้ทีมเหล่านี้ไม่ได้อยู่แล้ว
"เวียดนาม มักจะใช้การผ่านบอลจากการบิลด์อัปในแดนหลัง ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าแทคติกนี้โดยภาพรวมแล้ว มันไม่เหมาะกับฟุตบอลสมัยใหม่ ยิ่งศักยภาพผู้เล่นเรามีจำกัด ความคิดสร้างสรรค์ย่อมลดลง"
"เลอ เป๋า หง็อก" อีกหนึ่งผู้สื่อข่าวจาก Zing.vn เสริมว่า "พัค ฮัง ซอ มักจะใช้ผู้เล่นเดิม ๆ ในการเข้าทำ ผู้เล่นที่จบสกอร์ได้ดีมีเพียง เหงียน กง เฝือง (เบอร์ 10), เหงียน กวง ไห่ (เบอร์ 19), เหงียน เตี๋ยน ลินห์ (เบอร์ 22), ฟาน วัน ดึ๊ก (เบอร์ 20), เหงียน เฟือง ฮอง ดุย (เบอร์ 7) แค่นี้เท่านั้น ส่วนคนอื่น ๆ ยังขาดประสบการณ์ แล้วทำไมต้องใช้ผู้เล่นแค่นี้ ... ก็เพราะว่ามันมีผู้เล่นที่เล่นได้จริง ๆ เท่านี้ไง ดังนั้นปัญหาใหญ่ก็คือขุมกำลังและขนาดทีมที่มีน้อยเกินไป"
"ผู้เล่นของเราในชุดที่กำลังขึ้นมา บางคนยังไม่ถึงระดับเดียวกับรุ่นพี่ มันต้องใช้เวลา แต่บางทีเวลาก็ไม่รอเรา"
หยุดลีกเพราะโควิด การตัดสินใจที่ผิดพลาดที่สุด
ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทีมชาติเวียดนามต้องเจอกับการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดครั้งใหญ่ นั่นคือการยุติการแข่งขันฟุตบอลลีก เพื่อให้เวลากับ พัค ฮัง ซอ ในการเก็บตัวฝึกซ้อมเพื่อลุยศึกฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบ 12 ทีมสุดท้ายอย่างเต็มที่ ฟังแล้วเหมือนจะเป็นทิศทางที่ดี เพราะทีมเวิร์กและรูปแบบทีมคงจะแน่นมาก ๆ แน่
แต่นั่นคือดาบสองคมที่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง
"นักเตะส่วนใหญ่ของทีมเป็นนักเตะที่ลงเล่นในประเทศและไม่มีเกมลีกเลยเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ต้องยุติการแข่งขันไปเหลือเพียงการเข้าแคมป์กับทีมชาติ ซึ่งเป็นความจริงที่ว่าการเก็บตัวลักษณะนี้จะค่อย ๆ ซึมซับความรู้สึกที่ผู้เล่นจะมีภาระที่คล้ายกับการถูกกักขังไว้ด้วยกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในศึกฟุตบอลโลก และมันก็ค่อย ๆ ส่งผลร้ายออกมา" กาเบรียล ตัน กูรูอาเซียนของ ESPN วิเคราะห์ถึงประเด็นนี้
การฝึกซ้อมด้วยกันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะในยามที่พวกเขาไม่สามารถเก็บชัยชนะด้วยแล้ว ความมั่นใจที่มีอยู่ก็ถดถอย นั่นเท่ากับว่าวันที่พวกเขาจะได้แสดงความสามารถจริง ๆ อยู่ที่แมตช์แข่งขันเพียงไม่กี่แมตช์เท่านั้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ที่ผู้เล่นแต่ละคนควรจะมีมากกว่านี้ลดน้อยลงไปเพราะปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา
ไม่เพียงเท่านั้น การหยุดลีกยังส่งผลร้ายอย่างคาดไม่ถึง เพราะผู้เล่นทั้งหมดไม่มีแมตช์ฟิต แทคติกของ พัค ฮัง ซอ ที่ใช้การบิลด์อัปเกมจากแดนหลังที่ต้องอาศัยความฟิตเข้าสู้ก็ย่อมได้ผลน้อยลง เพราะผู้เล่นทีมชาติเวียดนามเล่นใน วีลีก หรือลีกในประเทศแบบ 100%
เพราะฉะนั้นการตัดสินใจหยุดลีกจึงเป็นสถานการณ์ที่สมาคมฟุตบอลเวียดนามตัดสินใจผิดพลาด แต่ก็โทษพวกเขาไม่ได้ เพราะนี่เป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับพวกเขา หรือแม้แต่กับชาติอื่น ๆ ในโลกก็ตาม
ปลาใหญ่ในบ่อเล็ก
กาเบรียล ตัน จาก ESPN วิเคราะห์ถึงสาเหตุการตกรอบรองชนะเลิศของทีมชาติเวียดนามว่าเป็นเพราะไร้นักเตะซูเปอร์สตาร์ พวกเขาควรจะมีนักเตะที่ไปค้าแข้งในต่างประเทศบ้าง อย่างในกรณีของ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่สามารถทำให้เห็นระดับความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน
"ความสามารถของผู้เล่นเวียดนามอยู่ในระดับที่ยอดเยี่ยมเลย แต่นักเตะของพวกเขานั้นยังต้องการโอกาสและความก้าวหน้าที่มากขึ้น อย่าง เหงียน กวง ไห่, ฟาน วัน ดึ๊ก และ เหงียน เตี๋ยน ลินห์ พวกเขามีความสามารถที่ดีแต่ไม่มีบททดสอบในการไปเล่นในต่างประเทศ มันจึงเป็นเหมือนพวกเขาเป็นปลาใหญ่แต่อยู่ในบ่อน้ำเล็ก ๆ ดังนั้นอาจจะถึงเวลาแล้วที่พวกเขาต้องกล้าออกไปเผชิญโลกกว้างในต่างแดน" ซื้อหวยออนไลน์
"เหมือนดังเช่น ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่ใช้เวลาสี่ปีในเจลีก และเขาก็แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างที่เหนือกว่าผู้เล่นคนอื่น ๆ ออกมา จนเป็นที่มาของสองประตูชัยในการพบกันของไทยและเวียดนาม เขากลายเป็นผู้เล่นที่มีอิทธิพลต่อทีมมากกว่าสมัยที่ได้รับเลือกเป็นผู้เล่นยอดเยี่ยมในซูซูกิ คัพ 2014 และ 2016 เสียอีก"
มาโน่ โพลกิ้ง เองก็ให้สัมภาษณ์ถึงความต่างของ ไทยลีก และ วีลีก ทั้งในแง่คุณภาพและผลผลิต เพราะเราจะเห็นว่าปัจจุบัน นักเตะเวียดนามทั้งหมดเป็นผลผลิตจากวีลีก แต่กลับไม่มีใครได้รับโอกาสไปเล่นในต่างแดนเลย
"ผมเคยทำงานทั้งในไทยลีกและวีลีก ผมเคยเจอความยากในการทำทีม ผมจะไม่เปรียบเทียบอะไรมาก ลีกเวียดนามมีทีมที่แข็งแกร่ง แต่ถ้าเทียบคุณภาพของลีกผมคิดว่าเวียดนามยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม"
"ไทยลีกในปัจจุบันเป็นลีกทีดีที่สุดในอาเซียน สโมสรในไทยลีกก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีแมตช์ที่ต่อเนื่อง เรามีผู้เล่นและโค้ชที่ดี เราผลิตนักเตะที่ดีเช่น ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่เป็นผลผลิตจากไทยลีกแล้วจึงได้รับโอกาสไปเล่นในเจลีก เมื่อเทียบกับ เหงียน กวง ไห่ เขาเป็นผลผลิตของวีลีก แต่ตอนนี้เขายังไม่ได้โอกาสไปเล่นในต่างประเทศ"
"ผู้เล่นจากอาเซียนถ้ามีโอกาสก็ควรคว้าโอกาสไว้แล้วไปเล่นในต่างประเทศ ดีกว่าการมารอคอยโอกาสพัฒนาอยู่ในประเทศ สโมสรและลีกจำเป็นต้องรับรู้ถึงบทบาทในการพัฒนาเพื่อผลักดันผู้เล่นที่มีความสามารถไปสู่ระดับทีมชาติ และในทางกลับกัน ทีมชาติเองก็ต้องตระหนักถึงบทบาทของสโมสรในการพัฒนาผู้เล่นด้วยเช่นกัน"
แล้วทำไมผู้เล่นของ ลีกเวียดนาม ถึงยังไม่ค่อยได้ไปเล่นในต่างประเทศ และคนที่เคยไปทำไมถึงไม่ประสบความสำเร็จ
"ตรัน เจือง ดึ๊ก" ผู้สื่อข่าวจาก Zing News บอกไว้ว่า ในตอนที่ เหงียน กง เฝิง ไปเล่นให้กับ แซงต์ ทรุยด็อง ในลีกเบลเยียมเป็นการตัดสินใจผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอเยนต์หรือการเลือกทีม เขาดันส่งแข้งรายนี้ไปอยู่กับทีมที่มีกองหน้าอยู่แล้วถึง 10 คน แน่นอนว่าโอกาสของเขาก็ย่อมน้อยมาก เพราะความฟิตของนักเตะอาเซียนก็ไปสู้นักเตะยุโรป-แอฟริกาไม่ได้ เขาเลยเป็นได้แค่ตัวเลือกท้าย ๆ สุดท้ายก็ต้องกลับมา
ขณะเดียวกันปัญหาด้านภาษาก็ถือเป็นอีกเหตุผลสำคัญ เพราะด้วยบุคลิกและการที่เขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ทำให้เขาไม่กล้าที่จะสื่อสารออกมา นั่นจึงไม่ใช่แค่เรื่องความสามารถแต่เป็นเรื่องของการปรับตัวด้วย นักเตะเวียดนามทุกคนยังต้องเรียนรู้และกล้าที่จะแสดงออกมากกว่านี้
ส่วน เหงียน กวง ไห่ ที่หลาย ๆ คนเชียร์ให้ไปเล่นในต่างประเทศ ถ้าตามมุมมองของเขาหากจะไปเล่นต่างแดนจริงก็ยังต้องปรับตัวอีกมาก เพราะในลีกต่างแดนต้องการผู้เล่นที่มีความฟิต และต้องการผู้เล่นที่เล่นเกมรับและเกมรุกได้ในเวลาเดียวกัน ถ้าพิจารณาลึก ๆ แล้วนักเตะรายนี้ยังต้องปรับตัวอีกพอสมควรกว่าจะไปถึงจุดนั้น และปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือ "แล้วสโมสรจะยอมปล่อยตัวนักเตะรายนี้ไปเล่นต่างแดนจริงหรือ ?" นี่เป็นคำถามที่เขาเองก็ตอบไม่ได้
"เลอ เป๋า หง็อก" จาก zing.vn เสริมว่า บางที มาโน่ อาจจะพูดถูก วีลีกเรายังตามหลังไทยลีก มันส่งผลได้ชัดในเวทีทีมชาติ การจัดการและประสบการณ์การบริหารของเรายังต้องเรียนรู้อีก ความแตกต่างสำคัญที่สุดก็คือผู้เล่นเวียดนามเล่นอยู่กับลีกในประเทศ 100% ในขณะที่ไทยมีผู้เล่นที่ไปเล่นในต่างแดนอยู่หลายคน นี่คือสิ่งที่ทำให้เวียดนามเป็นรองไทยอย่างชัดเจน
ไม่ใช่เฉพาะเวียดนาม
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ คุณผู้อ่านจะเห็นคำว่า "ความฟิต" แทรกอยู่ในบางหัวข้อบ้างแล้ว นี่คือเหตุผลที่สำคัญที่สุด และมันไม่ใช่สิ่งที่ทีมชาติเวียดนามต้องเจอเพียงชาติเดียว
ทีมชาติเวียดนามลงแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกกับทีมชั้นนำจากเอเชีย สิ่งสำคัญที่ชี้ขาดพวกเขา นั่นก็คือ "ความฟิต" แม้ พัค ฮัง ซอ จะเข้ามาพัฒนาความฟิตผู้เล่นได้ดีกว่ายุคก่อน ๆ มาก แต่สิ่งนี้ก็ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ในไม่กี่ปี ทั้งหมดต้องเริ่มจากรากฐาน
ดังนั้นเวลา 3-4 ปีที่จะให้โค้ชคนหนึ่งวางรากฐานฟุตบอลที่ดูเหมือนจะนาน แต่ความจริงแล้วมันไม่พอเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่ว่าชาติจากอาเซียนกี่ชาติที่พยายามจะก้าวข้ามระดับอาเซียนไปได้ แต่สุดท้ายเมื่อไปถึงระดับเอเชียแล้ว สกอร์ที่ออกมาก็ยังเป็นชาติจากอาเซียนที่เป็นรอง และมักจะได้ผลการแข่งขันที่แพ้มากกว่าชนะ
เวียดนาม เป็นตัวอย่างที่สำคัญในยุคปัจจุบัน ในขณะที่ทีมชาติไทยก็เป็นตัวอย่างที่สำคัญในช่วงยุคปี 2015-2018 แต่นั่นก็เป็นบทเรียนที่ทุกชาติต้องเรียนรู้
ชนาธิป สรงกระสินธ์ เจ้าของรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยม 3 สมัยในศึกฟุตบอลเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020 เปิดเผยกับรายการลุยสนามข่าวเย็นทาง T SPORTS 7 ไว้ได้น่าสนใจ เพราะเขาเองคือผู้เล่นในเจเนอเรชั่นที่ผ่านความสำเร็จระดับอาเซียนและไปไม่ถึงฝันในการคัดบอลโลกรอบ 12 ทีมสุดท้าย ว่าสิ่งที่สำคัญคือการพัฒนาควบคู่กันไป โดยเฉพาะเรื่องสภาพร่างกายที่เป็นประเด็นสำคัญที่เขามองว่าทีมไทยเองก็ยังต้องพัฒนา
"จริง ๆ เราได้แชมป์ซูซูกิ คัพ มันก็เป็นเครื่องบ่งบอกว่าเราเป็นทีมที่ดีที่สุดในทัวร์นาเมนต์ แต่มันไม่ได้บ่งชี้ว่าเราดีที่สุดในอาเซียน ในอาเซียนทุกชาติต่างก็พัฒนาขึ้นมา การที่เราเป็นแชมป์ซูซูกิ คัพ เราจะเป็นแชมป์ได้ตลอดไปหรือเปล่าอันนี้เป็นคำถามที่ต้องคิด เราต้องสร้างมาตรฐานให้ทีมชาติไทยต่อไป หลังจากหมดเจเนอเรชั่นของผมไปเจเนอเรชั่นใหม่ก็จะขึ้นมา จะทำยังไงให้มาตรฐานยังคงอยู่"
"ผมไม่ได้อยากมองว่าเราต้องต่อสู้กับอาเซียนเพียงอย่างเดียว แต่เวลาเราไปเอเชีย ทำไมเราสู้เขาไม่ค่อยได้ เราต้องมีเหตุและผล มีต้นทางไปสู่ปลายทาง ต้องคิดถึงเรื่องร่างกาย อาหาร และทุกอย่างประกอบกัน ถึงจะทำให้เราไปสู้กับเอเชียได้ ในอาเซียนพวกเราสู้ได้อย่างมั่นใจ พอเราไปเอเชีย ตัวต่อตัวเราชนะเขาได้ไหม บอลทัวร์นาเมนต์เราชนะเขาได้ไหมในรอบที่ลึกขึ้น เราต้องมองถึงต้นเหตุและพัฒนาควบคู่กันไป ทั้งระบบเยาวชน ลีก และพัฒนาทุกอย่างเพื่อให้เดินหน้าไปด้วยกัน เพื่อไปสู่ระดับเอเชียตามที่วางเป้าไว้"
วันนี้เราได้เห็นกันแล้วว่าทำไมเวียดนามถึงไม่ประสบความสำเร็จในระดับเอเชีย แต่ภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ใช่เพียงแค่เวียดนามเท่านั้นที่ต้องเรียนรู้ แต่ทุก ๆ ชาติในอาเซียนเองก็ต้องเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาและก้าวเดินไปด้วยกัน เพราะคงไม่มีความล้มเหลวใดที่จะเป็นความล้มเหลวที่ไร้ความหมาย หากเจ้าของผลิตภัณฑ์ (ที่ทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ) ยังไม่ถอดใจแล้วหันไปผลิตสินค้าชนิดอื่นเสียก่อน